|
“ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมจัดทำโครงการพัฒนาอาชีพการประมงและการเกษตร |
|
” ให้พิจารณาจัดหาพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมหรือพื้นที่สาธารณประโยชน์เพื่อจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา
เช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ให้เป็นศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาในเขตที่ดินชายทะเล “ |
|
1.จัดสรรพื้นที่เสื่อมโทรมหลังป่าชายเลน จำนวน 728 ไร่ สำหรับราษฎร 113 ครัวเรือน เข้าประกอบอาชีพการเลี้ยงกุ้งทะเล ดำเนินการโดยกรมป่าไม้ กรมประมง จังหวัดจันทบุรี ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ปัจจุบันมีกลุ่มสมาชิกผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ 208 ราย ในพื้นที่รอบอ่าวคุ้งกระเบน 1,083.50 ไร่ มีผลผลิตประมาณปีละ 3,000-5,000 ตัน มีมูลค่า 4-500 ล้านบาท
2.ส่งเสริมให้ราษฎรที่เข้าร่วมโครงการเลี้ยงกุ้งทะเล ป้องกันมลภาวะ และรักษาสิ่งแวดล้อม โดยการสร้างบ่อเก็บตะกอนเลน และปลูกป่าชายเลนหลังแปลงนากุ้งของตนเอง ตลอดจนการให้บริการวิชาการด้านคลินิกโรคสัตว์น้ำ และการวิเคราะห์คุณภาพน้ำและดินดำเนินการโดยกรมประมง และกรมป่าไม้
3.อนุรักษ์ป่าชายเลนที่สมบูรณ์จำนวน 610 ไร่ รอบอ่าวคุ้งกระเบน และป่าบกบนเขาต่างๆ ให้คงอยู่ และอุดมสมบูรณ์ตลอดไป โดยการให้ความรู้แก่ราษฎรในโครงการฯ พร้อมทั้งศึกษาวิจัยระบบนิเวศน์ป่าไม้ และออกตรวจตราปราบปราม จัดสร้างสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน
มีความยาว 1,793 เมตร ลดเลี้ยวเข้าไปในป่าชายเลน เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางด้านระบบนิเวศวิทยาป่าชายเลนในรูปแบบ “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต”แก่นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป ดำเนินการโดยกรมป่าไม้ และกรมประมง
ปัจจุบันป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบนเป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์ที่สุดในจังหวัดจันทบุรี มีพันธุ์ไม้ป่าชายเลนทุกชนิด โดยมีพันธุ์ไม้ป่าชายเลนเดิม 49 ชนิด ในปี 2538 เพิ่มขึ้น 34 ชนิด เป็น 128 ชนิด ในปี 2554 มีมวลชีวภาพของป่า 24.13 ตัน/ไร่ สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 11.52 ตัน/ไร่ คิดเป็นมูลค่าคาร์บอนได้เท่ากับ 14,671.64 บาท/ไร่
4.ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ด้วยการปลูกป่าชายเลนเพิ่มเติมทุกปี รวมพื้นที่ปลูกป่าชายเลนบริเวณอ่าวคุ้งกระเบนและหลังแปลงนากุ้ง ประมาณ 690 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาด้านนิเวศน์ป่าชายเลนแก่ผู้สนใจและมุ่งหวังให้ป่าชายเลนได้ดูดใช้ธาตุอาหารที่เกิดจากกิจกรรมการเลี้ยงกุ้งทะเลของโครงการฯ ดำเนินการโดยกรมป่าไม้ และกรมประมง
5.อนุรักษ์และจัดการหญ้าทะเลที่มีอยู่ในอ่าวคุ้งกระเบนจำนวน 617 ไร่ ให้อุดมสมบูรณ์ตลอดไป เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลวัยอ่อนและวัยรุ่น
อีกทั้งยังเป็นแหล่งที่ใช้ธาตุอาหารต่างๆ ที่เกิดจากกิจกรรมการเลี้ยงกุ้งทะเลของโครงการฯ อีกด้วย ดำเนินการโดยกรมประมง
อีกทั้งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของพะยูน ทำให้พะยูนหวนคืนสู่อ่าวคุ้งกระเบนตั้งแต่ปี พ.ศ.2549
6.สร้างแปลงพ่อแม่พันธุ์หอยนางรมในอ่าวคุ้งกระเบน เพื่อให้เกิดการแพร่ขยายพันธุ์ลูกหอย ปริมาณหอยที่เพิ่มขึ้นจะบริโภคแพลงก์ตอนที่เกิดจากธาตุอาหาร
อันอุดมสมบูรณ์ของกิจกรรมการเลี้ยงกุ้งทะเล ทำให้ปริมาณแพลงก์ตอนที่อยู่ในแหล่งน้ำของอ่าวคุ้งกระเบนมีปริมาณลดลง นอกจากนี้ราษฎรยังสามารถเก็บลูกหอยที่เกิดขึ้นไปเลี้ยง ก่อให้เกิดอาชีพเสริมรายได้ และป้องกันการเกิดมลภาวะในเรื่องปริมาณแพลงก์ตอนที่มีมากเกินไปอีกด้วย ดำเนินการโดยกรมประมง
7.ส่งเสริมให้ราษฎรเลี้ยงหอยนางรมแบบแขวนตามบริเวณคลองน้ำทิ้งจากบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ซึ่งหอยนางรมที่เลี้ยงจะเจริญเติบโตได้ดี และใช้แพลงก์ตอนที่มาจากบ่อเลี้ยงกุ้งเป็นอาหารได้อย่างดี ทำให้ปริมาณแพลงก์ตอนลดลงก่อนที่น้ำทิ้งจะไหลลงสู่อ่าวคุ้งกระเบน ดำเนินการโดยกรมประมง
8.เพาะพันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่ง คือ กุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดำ ปลากะพงขาว ปลากะรัง ปลาการ์ตูน
และปูม้า ปีละไม่น้อยกว่า 20 ล้านตัว ปล่อยลงบริเวณป่าชายเลน และแหล่งหญ้าทะเลในอ่าวคุ้งกระเบน เพื่อเพิ่มผลผลิตและมุ่งหวังให้สัตว์น้ำวัยอ่อนที่ปล่อยเลี้ยงตัวอยู่ในอ่าวคุ้งกระเบนใช้อาหารธรรมชาติ ที่อุดมสมบูรณ์อันเกิดจากกิจกรรมการเลี้ยงกุ้งทะเล มีผลทำให้เกิดการสมดุลของธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ดำเนินการโดยกรมประมง
9.สร้างที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล ตลอดจนอนุรักษ์ปะการังธรรมชาติปลาการ์ตูนและหอยมือเสือ บริเวณทะเลหน้าอ่าวคุ้งกระเบนและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้สัตว์น้ำที่เจริญเติบโตในอ่าวคุ้งกระเบนใช้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยเพื่อแพร่ขยายพันธุ์ต่อไป ดำเนินการโดยกรมประมง
10.ชลประทานน้ำเค็มเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเล ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ได้จัดสร้างระบบชลประทานน้ำเค็มเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลรอบอ่าวคุ้งกระเบน โดยทำการจัดระบบน้ำทะเลที่ใช้เลี้ยงกุ้งทะเลแยกออกจากระบบน้ำ ที่ผ่านการเลี้ยงกุ้งทะเล ทั้งนี้เพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวของพื้นที่เลี้ยงกุ้งทะเลและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคกุ้งทะเลอันอาจจะเกิดขึ้นบริเวณอ่าวคุ้งกระเบนเปิดใช้งานเมื่อปี พ.ศ. 2542
11.การทำปุ๋ยหมักดินเลนนากุ้ง เป็นรูปแบบการเปลี่ยนของเสียจากการเลี้ยงกุ้งทะเลให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันมลภาวะอันเกิดจากการเลี้ยงกุ้งทะเลรอบอ่าวคุ้งกระเบน โดยนำดินเลนหรือสารอินทรีย์จากการเลี้ยงกุ้งทะเล แปรสภาพเป็นปุ๋ยหมัก ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรได้ ดำเนินการโดยกรมประมงและกรมพัฒนาที่ดิน ต้นทุนการผลิตประมาณ 1.12 บาท/กิโลกรัม
12.ดูแลให้ความรู้ในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต และผลกระทบสิ่งแวดล้อมแก่ราษฎรที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการอย่างต่อเนื่อง ดำเนินการโดยกรมพัฒนาชุมชน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดจันทบุรี และกรมประมง
13.ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพัฒนา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ
ได้ดำเนินการจัดศึกษาดูงานแบบผสมผสานตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โดยบริการแก่ผู้ศึกษาดูงานในรูปแบบการท่องเที่ยวแบบพัฒนา ศึกษาพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต
ประกอบด้วย เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา แปลงวิชาการเกษตรปลูกพืชผักสาธิต เกษตรทฤษฎีใหม่ และแปลงปศุสัตว์เลี้ยงสัตว์สาธิต ซึ่งนอกจากจะได้รับความรู้ทางวิชาการที่สามารถนำไปปฏิบัติหรือประกอบอาชีพแล้ว ยังได้รับความเพลิดเพลินเสมือนเป็นการพักผ่อนอีกด้วย มีผู้เข้าเยี่ยมชมปีละไม่น้อยกว่า 500,000 ราย/ปี
การดำเนินการท่องเที่ยวเชิงพัฒนาของศูนย์ฯ จึงได้รับรางวัลยอดเยี่ยม “กินรีทอง” ประจำปี พ.ศ.2543 ประเภทส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และรางวัลดีเด่น “กินรีเงิน” ประจำปี พ.ศ.2545 ประเภทองค์การส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ได้รับรางวัลมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวประจำปี 2554 และรางวัลมาตรฐานห้องน้ำสาธารณะเพื่อการท่องเที่ยวระดับสากลตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2557 จากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา